กลับไปหน้าหลัก

Book Review : เมื่อปลาจะกินดาว 7 รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อม 10 เรื่องในรอบปี 2550

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554


เมื่อปลาจะกินดาว 7 รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อม 10 เรื่องในรอบปี 2550

โดย : ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สรุปย่อ

                หนังสือ เมื่อปลาจะกินดาว ได้จัดทำหนังสือนี้โดยมีเจตนารมณ์ที่จะให้หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนภาพรวมของสิ่งแวดล้อมในรอบปี และมีการพยากรณ์ทิศทางในอนาคต โดยเป็นการรวบรวมสารคดีด้านสิ่งแวดล้อม 10 เรื่อง ที่ฉายให้เห็นถึงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ มาบตาพุด : ลมหายใจเศรษฐกิจ-มลพิษของชาวบ้าน ปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเราที่ถูกมองข้าม อาทิ มลภาวะจากงานศพ โรคศิวิไลซ์ ภัยคนในตึก และประเด็นในเชิงนโยบายใหม่ๆ อาทิ ถึงเวลาที่จะตั้งศาลสิ่งแวดล้อม? ซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต และเนื้อหาสาระที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้จะทำหน้าที่ทั้งกระตุ้น และทำให้ผู้ได้อ่านตระหนักถึงสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในบ้านเราที่ยังมีสิ่งที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน และต้องอาศัยความร่วมมือจากสังคม ตลอดจนการปรับเปลี่ยนวีคิดและพฤติกรรมในระดับตัวบุคคลและการกำหนดนโยบายในระดับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเอื้อต่อการดำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดี และได้นำเสนอปรากฏการณ์ทั้ง 10 ปรากฏการณ์ ดังนี้

1.อยู่อย่างไทย เย็นๆ ใจในวันโลกร้อน ได้ชี้ให้เห็นว่าคนไทยมากกว่า 16.4 ล้านคน กำลังอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาที่เกิดจากน้ำทะเลขึ้นสูงและพายุไซโคลนกำลังแรง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อนจะส่งผลให้น้ำทะเลสูงขึ้น พื้นที่ชายฝั่งทะเลมีแนวโน้มเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมาก และไม่ควรเข้ามาตั้งถิ่นฐาน หากมีการตั้งควรเตรียมแผนการรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น แต่คนไทยก็ยังนิ่งเฉย มีนิสัยวัวหายล้อมคอก เมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้วจึงมีการแก้ไขปัญหา มีระบบเตือนภัย มีการตื่นตัว แต่ไม่คิดที่จะป้องกันไว้หรือเตรียมพร้อมเมื่อเกิดภัยพิบัติ

2.น้ำพริกกับความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อสังคมหันมาให้ความสนใจในเรื่องอุตสาหกรรมมากกว่าการเกษตรกรรม ส่งผลให้แรงงานเกษตรมาเป็นแรงงานอุตสาหกรรม และเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเรียนหนังสือในเมืองและใช้ชีวิติส่วนใหญ่อยู่กับวัตถุ จึงทำให้ในที่สุดวีถีการกินการอยู่ที่เตยพึ่งพาใกล้ชิดธรรมชาติถูกตัดขาดทำลายไปด้วย ไม่มีโอกาสรับประทานอาหารพื้นบ้านดังปู่ ย่า ตา ยาย ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ไม่เห็นคุณค่าของพักพื้นบ้าน อาหารถิ่นอีกต่อไป และเมื่อวัฒนธรรมการบริโภคอาหารเปลี่ยนแปลงไป มีผลมหาศาลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยวิถีชีวิตของคนที่อยู่กับป่าเปลี่ยนแปลงถูกตัดขาดออกจากกัน จะเป็นการทำลายความหลากหลายที่อยู่ในระบบอาหารเรา และน้ำพริกเป็นระบบอาหารที่สอดคล้องกับฐานทรัพยากรของบ้านเรา เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง น้ำพริกสำรับหนึ่งเชื่อมดยงไปถึงระบบการผลิตและระบบนิเวศ เมื่อยังมีความต้องการทานน้ำพริกอยู่ ความต้องการที่จะรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ รักษาแม่น้ำ รักษาป่าชายเลนเอาไว้จึงเกิดขึ้นอย่างน้อยก็เป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ และถ้าสามารถอธิบายคุณค่าของน้ำพริกให้คนรุ่นใหม่เข้าใจได้ว่า เรื่องเหล่านี้มีผลอย่างไรต่อสุขภาพของทุกๆคน น่าจะทำให้มีการอนุรักษ์พืชพันธุ์ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และน้ำพริกถ้วยเล็กๆนี้ย่อมจะมีผลสะเทือนไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพของเราด้วย

3.โรคศิวิไลซ์ ภัยคนในตึก โรคจากการทำงานในตึก ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้คนตะวันตกแต่สำหรับคนไทยน้อยคนนักที่จะสามารถป่วยได้ แม้จะนั่งทามงานสบายๆท่ามกลางเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำ อุปกรณ์ทำงานที่ทันสมัย หรือแม้กระทั้งตึกที่เราอยู่จะได้ชื่อว่าเป็นตึกอัจฉริยะ แสนฉลาดเพียงใด แต่จะมีใครสักคนที่รู้ว่า สิ่งต่างๆภายในอาคารนั่นเองที่เป็นต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บอย่างคาดไม่ถึง และต้นเหตุโรคจากตึก คือ คุณภาพอากาศและสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ซึ่งเรามักจะคิดว่าการทำงานอยู่ในอาคารปิด มีเครื่องปรับอากาศที่ทันสมัยจะมีความปลอดภัยจากมลพิษหรือเชื้อโรคต่างๆ มากกว่าในอาคารเปิดโล่ง แต่สิ่งปนเปื้อนในอาคารมีมากกว่า    2-5  เท่า ของภายนอกตึก เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นภายในอาคาร และพบว่าระดับมลพิษอากาศภายในอาคารมากกว่าภายนอกถึง 1,000  เท่า นอกเหนือจากคุณภาพอากาศในอาคารที่มีความสำคัญสำหรับมนุษย์ตึกแล้ว สภาพแวดล้อมในการทำงาน อันประกอบไปด้วย อุณหภูมิ แสงสว่าง อุปกรณ์สำนักงานต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ และการจัดท่าทางในการทำงาน ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความเจ็บป่วยได้ทั้งสิ้นหากไม่ดูแลที่เหมาะสม และหากเราใช้เวลาในอาคารวันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง สัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 5 วัน โรคจากการทำงานตึกเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างยิ่งทุกๆส่วนประกอบที่อยู่ในที่ทำงาน การปวดหลัง ตามัว จากการทำงานคอมพิวเตอร์ เป็นต้น  แต่เราทุกคนสามารถป้องกันมันได้ โดยเริ่มจากการดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งในและนอกอาคารเพื่อสุขภาพที่ดีและส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของทุกๆคน

4.มาบตาพุด : ลมหายใจเศรษฐกิจ-มลพิษของชาวบ้าน ได้สะท้อนว่าอุตสาหกรรมมาบตาพุดถึงมีความสำคัญในทางเศรษฐกิจ แต่ในทางกลับกันก็ทำลายประชาชนที่อยู่รอบๆนิคมอุตสาหกรรมนี้ทั้งๆที่พวกเขามาอยู่ก่อนแต่กลับได้รับสารพิษตกค้างมากมาย จนบางคน บางครอบครัวต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น

5.จากเชียงใหม่ถึงแม่เมาะ วิกฤตเฉพาะของคนเมืองแอ่งกระทะ โดนสะท้อนให้เห็นว่าเชียงใหม่เป็นตัวอย่างของเมืองที่อยู่ในแอ่งกระทะที่ต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง ส่งผลให้มีผู้ป่วยทางเดินหายใจจำนวนมาก และภัยจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

6.มลภาวะจากงานศพ การเผาศพเป็นการปล่อยสารพิษไปสู่อากาศจนเกิดเป็นมลพิษที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะสารในกลุ่มไดออกซินและฟิวแรน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็ง ความผิดปกติของระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและระบบสืบพันธุ์ หากไม่มีการแก้ไขเร่งด่วนในการจัดพิธีกรรมอย่างเหมาะสมและปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น พิธีกรรมงานศพจะกลายเป็นแหล่งปล่อยสารพิษตกค้างให้มนุษย์สูดดมและเจ็บป่วยจนยากจะเยียวยา

7.กอล์ฟ : กีฬาสีเขียวหรือตัวทำลายสิ่งแวดล้อม เมืองไทยได้รับเลือกให้เป็นประเทศที่น่าตีกอล์ฟในช่วงวันหยุดมากที่สุด และได้รางวัลคลับเฮ้าส์ที่ดีที่สุดในเอเชีย ทุกสนามกอล์ฟในเมืองไทยแต่ได้รับรางวัลการันตีมากมาย ซึ่งสนามกอล์ฟนี่แหละเป็นตัวการที่สำคัญที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งการใช้ที่ดิน บุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมและป่าไม้ การใช้น้ำ น้ำที่ใช้ในที่อยู่อาศัย  น้ำที่รดสนามหญ้า และสนามกอล์ฟส่วนใหญ่มักตั้งอยู่บริเวณป่าเขาที่ยังมีธรรมชาติที่งดงาม เป็นป่าต้นน้ำ และความต้องการน้ำในปริมาณมากของสนามกอล์ฟจึงเกิดปัญหาแย่งชิงน้ำจากภาคเกษตรกรรม ที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภคของชุมชน

8.ทุ่งกุลาร้องไห้ : นิเวศวัฒธรรมท่วม-แล้งร้ายแรงจริงหรือ โดยได้เสนอว่าทุ่งกุลาร้องไห้ ไม่แห้งแล้งเหมือนดังในอดีต ที่มองว่าทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นทุ่งทะเลทราย น้ำก็ไม่มีดื่ม ต้นไม้ที่จะให้ร่มเงาก็ไม่มี มองไปทางไหนก็เห็นแต่ทุ่งหญ้าเต็มไปหมด ทำให้พวกกุลาร้องไห้ จึงเรียกว่าทุ่งกุลาร้องไห้นี่เป็นนิเวศวัฒนธรรมสมัยก่อน แต่ปัจจุบันนิเวศวัฒนธรรมเป็นวิวัฒนาการของผู้คน สะท้อนให้เห็นถึงการตอบสนองของวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป และปัจจุบันภาครัฐมองประโยชน์จากทุ่งกุลาร้องไห้เป็นเป้าหมายสูงสุดของการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการสร้างความมั่นคงในชุมชนและสร้างชื่อจากการผลิตข้าวหอมมะลิ นับว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ขึ้นชื่อ และมีการเพิ่มพืชพันธุ์ใหม่เข้ามา เช่น ยูคาลิปตัส ยางพารา ซึ่งนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของทางอีสานไปแล้ว

9.ขยะจากหีบห่อผลิตภัณฑ์ โดยให้แง่คิดว่าในแต่ละวันเราผลิตขยะกันเท่าไร ขยะแต่ละชิ้นมาจากไหน แล้วแต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือนมีขยะที่เกิดจากการบริโภคของเรามากน้อยแค่ไหน และขยะบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันส่วนหนึ่งทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ปริมาณขยะร้อยละ 30 เป็นขยะบรรจุภัณฑ์คิดเป็นปริมาณกว่า 4 ล้านตัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มปริมาณสูงขึ้นโดยทุกฝ่ายจะต้องมาหาทางออกร่วมกัน

10.ถึงเวลาตั้งศาลสิ่งแวดล้อม? เห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจะต้องมีการวางแผนการใช้ทรัพยากรและการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าในรูปมลพิษด้านต่างๆ ความเสื่อมโทรม การหมดไปของธรรมชาติ และกระทบต่อคุณภาพชีวิต สุขอนามัย จึงควรมีกระบวนการยุติธรรมในการจัดบริหารด้านความยุติธรรมแก่สังคม ประชาชนคนจนถูกเอาเปรียบ ประสบภาวะที่เป็นเบี้ยล่างไร้ศักยภาพที่จะต่อสู้คดีกับคนที่ได้เปรียบกว่า มีการเลือกปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรม จึงนำมาสู่ความพยายามในการจัดตั้ง ศาลสิ่งแวดล้อม ในที่สุด

ข้อดี-ข้อเสีย
เป็นการให้ประชาชนชาวไทยได้ตื่นตัวในการที่จะมีจิตสำนึกรักษาสิ่งแวดล้อม หวงแหนธรรมชาติที่ตนมีอยู่ เห็นความสำคัญว่าปัญหาต่างๆที่เราประสบอยู่ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไม่ใช่รัฐบาลฝ่ายเดียวที่จะมีนโยบายออกมาแก้ไขปัญหา แต่เราทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศและมนุษย์ทั่วโลกจะต้องช่วยกัน ตื่นตัว ไม่นิ่งเฉยมองว่าไม่เกี่ยวกับตัวเรา เราไม่ใช่ผู้ประสบ จึงทำให้ผู้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้มีจิตสำนึกรักษาสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ในส่วนข้อเสีย หนังสือเล่มนี้เขียนในเชิงการพยากรณ์ หรืออ้างงานศึกษาของสถาบันต่างๆว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แนวโน้มภัยพิบัติในอนาคต แต่ในความจริงอาจจะไม่เป็นไปตามคำพยากรณ์หรือผลการศึกษาก็ได้

ข้อเสนอแนะ
สำหรับหนังสือเมื่อปลาจะกินดาว 7 ได้รายงานสถานการณ์ทั้ง 10 สถานการณ์ที่จะเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหาส่วนมากหรือเกือบทั้งหมดเกิดจากฝีมือมนุษย์ที่เป็นคนกระทำ ดังเช่น ปัญหาโลกร้อน และผู้คนควรหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่าเห็นแก่ความสะดวกสบายตามกระแสนิยมต่างๆ ร่วมกันคนละไม้ละมือ ปลูกจิตสำนึกในตัวเอง เริ่มจากการใช้ชีวิตประจำวัน ปิดไฟ ปิดพัดลม เมื่อใช้แล้วทุกครั้ง การกระทำเพียงเล็กน้อยของแต่ละบุคคลย่อมจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอย่างมหาศาล
 





บล็อกโดย นายเทียนชัย จำปาเงิน รหัส 5223401166
อ้างอิงจากหนังสือ เมื่อปลาจะกินดาว 7 รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อม 10 เรื่องในรอบปี 2550
โดย : ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อ่านจบรับรองท่านต้องตื่นตัวรีบรักษาสิ่งแวดล้อมแน่นอน

อิสรภาพแห่งความคิด สิงห์แสด ม.อุบลฯ กล่าวว่า...

มลพิษ จากกิจกรรมต่างของมนุษย์ ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป จากปกติกลายเป็นไม่ปกติ ฉะนั้นแล้วเราควรเตรียมตัวที่จะพบกับการเปลี่ยนแปลงในอนคต

.....มอทราย03....